มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของโลก และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การคัดกรองและตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจโดยการส่องกล้องจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และการเสียชีวิตลดลงได้
ส่องกล้องทางเดินอาหาร จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ในผู้ชาย 16.2 ต่อประชากร 100,000 คน และในผู้หญิง 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน โดยกว่า 90% มะเร็งลำไส้เป็นชนิด Adenocarcinoma ซึ่งเป็นผลจากเซลล์เยื่อบุในผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ที่เรียกว่า ติ่งเนื้อ หรือ โพลิบ (Polyp) ซึ่งติ่งเนื้อบางส่วนอาจโตขึ้นและพัฒนาจนกลายเป็นมะเร็งได้
ทั้งนี้ศูนย์โรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไทยนครินทร์จึงมีคำแนะนำการตรวจคัดกรอง ข้อมูลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก รักษาทันที สามารถเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำของโรคได้
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่ในร่างกายมนุษย์มีความยาว 1.5-1.8 เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้อง (Colon) มีความยาว 1.5 เมตร และสำไส้ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน (Rectum) ยาว 15 เซนติเมตร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยจากตัวบุคคล
ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับประทานและผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง เป็นต้น ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกฮอล์ ภาวะไม่ได้ออกกำลังกาย โรคอ้วน และรับประทานผักผลไม้น้อย
ปัจจัยจากตัวบุคคล โดยพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้นในคนอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมักพบในคนไข้ที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) ทั้ง Crohn disease และ Ulcerative colitis รวมถึงคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติเกี่ยวกับโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (Personal history of Adenomatous polyp)
ระยะมะเร็งลำไส้ใหญ่
ระยะที่ 0 มะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ (Intramucosal carcinoma)
ระยะที่ 1 มะเร็งผ่านเยื่อบุลำไส้ มายังชั้นใต้เยื่อบุลำไส้ (Submucosa) และชั้นกล้ามเนื้อ (Muscularis propria) ยังไม่มีทะลุเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และหรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงแต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เป็นต้น
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
การผ่าตัด โดยแพทย์จัตีดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกไป กรณีมะเร็งลุกลามในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเพื่อเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กรณีลุกลามมีโอกาสแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง การฉายรังสีรักษาใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
เคมีบำบัด คือการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดหรืออาจจะหลังผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของมะเร็งแต่ละบุคคลต่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น